วิศวอุตสาหการจบมาทำอะไรได้บ้าง
ขออนุญาตเกริ่นตั้งแต่สมัยมัธยมเลยละกัน ถ้าใครอยากจะอ่านข้ามๆก็ให้อ่านตามสีเลยนะจ๊ะ
1.ช่วงมัธยมเลือกคณะที่จะเรียน
2.ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย 4 ปี
3.ช่วงเริ่มทำงาน
สำหรับน้อง ๆ
วัยมัธยมที่กำลังค้นหาตัวเองว่าเราเหมาะกับอาชีพไหน
หรือจะเลือกเรียนคณะไหนดีและกำลังสนใจคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
หรือที่เขาเรียกว่า วิศวอุตสาหการ หลาย ๆ ครั้งที่น้องๆไปงาน open house ของแต่ละคณะในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เราก็จะได้คำแนะนำจากรุ่นพี่มหาวิทยาลัย
(จริง ๆ พวกรุ่นพี่มหาวิทยาลัยก็ไม่รู้อะไรมากหรอก บางคนก็ตอบไม่ได้นะว่าจบไปแล้วทำอะไรบ้าง
ก็ยังเรียนไม่จบเลย) และได้สัมผัสบรรยากาศซึ่งจริงๆก็มีประโยชน์สำหรับการเลือกคณะได้นะ
แต่อาจจะแค่ในช่วง 4ปีนั้น เพราะการเรียนมหาลัยเราจำเป็นจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยเยอะมากๆ
แต่ถ้าให้พูดถึงชีวิตการทำงานนั้น มันคนละเรื่องกันเลย
เพราะช่วงเวลาที่นานกว่าช่วงเวลาในมหาวิทยาลัยก็คือ ช่วงเวลาในการทำงาน
ที่เราต้องอยู่กับมันไปจนแก่ น้องๆคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า ทำงานไม่ตรงสาย
ทำงานไม่ตรงกับที่เรียน
แล้วน้องๆสงสัยกันไหมว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น
พี่เคยเป็นเด็กคนนึงที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร หรืออยากเป็นอะไร
เพราะเราไม่รู้ว่าแต่ละอาชีพเรียนไปแล้วทำอะไรบ้างในแต่ละวัน
สิ่งที่เรารู้คือพ่อแม่เราทำอาชีพอะไรเราก็จะรู้แค่นั้น
ซึ่งตัวของพี่เองนั้นก็ไม่เข้าใจความรู้สึกของมนุษย์เงินเดือนหรอก
เพราะพ่อแม่ก็ทำธุรกิจของตัวเองไม่ได้เป็นมนุษย์เงินเดือน
แถมยังไม่มีใครมาคอยให้คำแนะนำเรื่องการเรียนด้วย
รู้คร่าวๆว่าคณะนี้ใช้คะแนนวิชาอะไรเยอะน้อย วิศวะต้องเก่งคำนวณ
หมอต้องเก่งทุกอย่าง คะแนนสูงมากแถมการแข่งขันสูงอีก อักษรก็ต้องเก่งภาษา ตอนนั้นพี่เรียนสายวิทย์-คณิต
เพื่อนๆก็อยากเป็นหมอ พยาบาล ครู วิศวะ สถาปัตย์ ส่วนพี่เองจะเป็นไรดีนะ
พ่อกับแม่ไม่อยากให้เรียนอักษรเพราะกลัวจบมาหางานทำไม่ได้
(แต่เอาจริงทุกอาชีพมีสิทธิตกงานได้ทั้งนั้นแหละ) ตอนนั้นก็ลองคำนวณคะแนน GAT
PAT ในเว็บเด็กดี ปรากฏว่าคะแนนเหมาะกับยื่นคะแนนวิศวะเพราะว่าค่อนข้างสูงและเปอร์เซนต์ในการติดก็สูงมาก
ไม่ต้องกังวลมาก ตอนนั้นคิดในใจว่าเอาวะ เรียนวิศวะก็ได้ จบไปน่าจะมีงานทำแหละ (ความรู้สึกตอนนี้คืออยากกลับไปตีตัวเองมากๆ
แกเลือกคณะนี้ทำไมแล้วเหตุผลคือมันไม่จริง) สเต็ปต่อมาก็ต้องเลือกสาขาว่าจะเรียนแนวไหนที่ไม่บู๊มาก
ก็มาตกที่ วิศวอุตสาหการ ผู้หญิงเรียนเยอะ เรียนหลากหลาย
เรียนวิชาของทุกภาควิชาแต่ไม่ลงลึกสักอย่าง
น้องคนไหนที่กลัวว่าฉันไม่เก่งฟิสิกส์ไม่เก่งคณิตจะเรียนวิศวะได้ไหม ทุกอย่างมันอยู่ทีใจล้วนๆ ถ้าเราพยายามอ่านหนังสือทำโจทย์เยอะๆมันก็จะผ่านไปได้ พี่เป็นคนที่เรียนฟิสิกส์ไม่เข้าใจตั้งแต่ม.4-ม.6 ได้คะแนนสอบน้อยมาก รอดมาได้เพราะคะแนนเก็บและเรียนพิเศษ สำหรับมหาวิทยาลัยการคำนวณก็คงต้องเจออยู่นั่นแหละเลี่ยงไม่ได้เพราะต้องเรียนวิชาฟิสิกส์ 2 ตัว แคลคูลัส 3 ตัว เป็นวิชาที่ต้องตัดเกรดรวมกับภาคอื่นและคณะอื่น ก็จะค่อนข้างโหด จึงได้
D มา1ตัวเลขจ้า แต่สาเหตุเกิดจากไม่ตั้งใจเรียน คลาส 8 โมง ตื่นไม่ไหว โดดเรียนบ้างนั่งหลับในห้องบ้าง อ่านหนังสือก่อนสอบแค่3ชั่วโมง
ใช้ชีวิตเหมือนตอนมัธยมเลย แต่ไม่เที่ยวกลางคืนนะ แค่ติดซีรีส์เฉยๆ พอหลังจากนั้นก็ไม่กลัวเกรดจะแย่ไปกว่านี้
ก็พัฒนาตัวเองตลอดเข้าเรียน อ่านหนังสือ โดยเฉพาะวิชาของภาคอื่นที่โครตยาก
(สำหรับดิฉันที่ไม่เก่งคำนวณ) ต้องเจอในปี 2 หลายคนดรอปในปีนี้กันนี่แหละ แต่ฉันผู้ยืนหยัดว่าจะไม่ดรอปต่อให้ได้ D ก็ไม่เป็นไรเพราะไม่อยากเสียเวลาไปนั่งเรียนอีกรอบ ไม่ได้หวังเกียรตินิยมอยู่แล้ว ดิฉันก็ผ่านมันมาได้อย่างกระอักเลือด นอนตี2ไปสิคะ หลังจากผ่านปี2 อันโหดร้ายก็สบายตัวละ เพราะปี 3 เราจะได้เรียนแต่วิชาภาคของตัวเอง แต่ถ้าไม่ชอบก็อีกเรื่องนะ พอดีพี่ชอบมาก ๆ รู้สึกว่ามันคือตัวตนของฉัน มีวิชาทฤษฎีที่เนื้อหาเยอะๆ ผสมกับวิชาคำนวณ แต่เป็นการคำนวณง่าย ๆ บวกลบคูณหารไม่ได้มีดิฟหรืออินติเกรตอะไรให้ปวดหัว ก็ได้ A ไปหลายวิชา รู้สึกภูมิใจในตัวเองมาก
หลังจบปี3
เราต้องมีการฝึกงาน 2 เดือน เราโชคดีมากที่ได้เข้าไปฝึกแผนก IE คือตรงกับที่เรียนมาเลย
สิ่งที่เขาจะให้เด็กฝึกงานทำคือวิชา Work study ใครอยากรู้คืออะไรเอาคำนี้ไปค้นหาในกูเกิลนะ
คร่าวๆก็คือ การศึกษาการทำงาน หน้าที่ของ IE คือ วางแผนการใช้ทรัพยากรในการผลิต
คือต้องรู้ว่าแต่ละเครื่องจักรสามารถผลิตงานได้เท่าไหร่ คนงานสามารถผลิตงานได้เท่าไหร่
ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ถึงจะผลิตงานทัน ด้วยต้นทุนที่คุ้มค่าที่สุด
ย้ำว่าต้นทุนคุ้มค่าที่สุด ซึ่งเด็กน้อยปี3
ก็จะต้องเข้าไปในไลน์การผลิตเพื่อจับเวลารอบของชิ้นงาน 1ชิ้นใช้เวลาเท่าไหร่
ตอนฝึกงานพวกพี่ๆก็จะไม่ค่อยใช้งานเรามากเราก็จะมีเวลาทำอย่างอื่นเช่น
เตรียมตัวหาโปรเจคที่จะทำในปี 4 ซึ่งเป็นตัวชี้ชะตาว่าเราจะเรียนจบได้ไหม
สำหรับช่วงปี 4
เป็นปีที่เรียนน้อยที่สุด ถ้าใครเรียนโดยไม่ดรอปวิชาไหนเลย
และเรียนตารางแน่นมาโดยตลอด ตารางก็จะว่างเยอะ ยิ่งเทอม
2 นี่แทบจะทำโปรเจคอย่างเดียว เป็นปีที่เรียนน้อยแต่เครียดมาก
บางคนก็เป็นโรคซึมเศร้า บางคนก็ชิล บางคนก็เครียด มันเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย
ทั้งอาจารย์ที่ปรึกษา คู่โปรเจค เนื้อหาโปรเจค และตัวเราเอง
ทุกอย่างล้วนเป็นปัญหาที่ต้องเจอ บางคนเลือกโปรเจคง่าย อาจารย์ใจดี ก็โชคดีไป
บางคนเลือกโปรเจคยาก คู่โปรเจคไม่ช่วย ก็ประสาทกินไป
แต่ทุกอย่างก็ต้องผ่านไปให้ได้ เพราะนี่เป็นแค่บททดสอบเล็กๆ
ซึ่งระหว่างทางการทำโปรเจค ก็ต้องสมัครงานไปด้วย บางคนก็ได้งานเร็ว
บางคนก็ยังไม่มีวี่แววจะถูกเรียกสัมภาษณ์ หรือบางคนก็วางแผนต่อโทเลย
สำหรับคนที่ตั้งใจจะทำงานเลยหลังจากเรียนจบแล้ว
คุณจะกลับมาเครียดอีกครั้งเมื่อคุณหางานทำไม่ได้ หรือไปสัมภาษณ์มาหลายที่แล้วแต่ก็ไม่ติดต่อมาสักที
สาเหตุของการไม่ได้งานก็มีหลายอย่าง 1.อยากได้คนมีประสบการณ์ในงานนั้น 2. ทัศนคติ ความคิดในการวางแผนชีวิตหรือมุมมองในเรื่องต่างๆ
3.ประวัติส่วนตัว เป็นคนจังหวัดอะไร ครอบครัวทำอาชีพอะไร มีพี่น้องหรือเปล่า
เวลาว่างชอบทำอะไร 4.ความสามารถ ทักษะเฉพาะทาง การใช้โปรแกรม
หรือการสื่อสารภาษาต่างๆ
และตำแหน่งงานอะไรบ้างที่วิศวอุตสาหการสมัครได้
จริงก็ค่อนข้างหลากหลายแต่ถ้าเป็นงานที่ตรงกับสิ่งที่เรียนมาก็คงไม่พ้นงานในโรงงาน
ซึ่งก็จะมีตำแหน่ง Production Engineer, Process Engineer,
Quality Assurance,
Quality Control, Purchasing Engineer, Production Planning Control และอื่นๆ
ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะเรียกชื่อตำแหน่งแตกต่างกันออกไปก็ดูรายละเอียดใน
qualification
ของแต่ละงานที่ประกาศในเว็บไซต์ หรือใครไม่ชอบโรงงานก็จะมาทำงานแนวออฟฟิศก็ได้หรือจะไปเป็นติวเตอร์สอนพิเศษก็ได้เช่นกัน
บรรยากาศในการทำงานก็จะมีทั้งปัญหาจากงาน
และปัญหาจากคน ปัญหาจากงานคิดไม่ออกก็ยังพอมีคนอื่นๆให้ปรึกษาและช่วยแก้ไข
หรือวางแผนงานแต่ละงานค่อยๆแก้ที่ละปัญหา แต่ปัญหาจากคนนี่อาจจะเป็นปัญหาที่แก้ยากและบั่นทอนจิตใจค่อนข้างมาก
การทำงานกับคนที่เราไม่ชอบ หรือเขาไม่ชอบเรา การทำงานกับคนที่เห็นแก่ตัว หรือไม่ใส่ใจงาน
ซึ่งทุกคนจะรู้สึกไม่อยากทำงานประจำเพราะเบื่อที่จะต้องถูกเจ้านายบ่น
หรือเพื่อนร่วมงานประสาทกิน
สำหรับใครที่อยากสอบถามเกี่ยวกับชีวิตการเรียนวิศวะ
หรือชีวิตการทำงานมากกว่านี้ก็ลองคอมเมนต์มาได้นะ เผื่อจะช่วยให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้
ความคิดเห็น